Build Sweet Home

เลือกบ้านยังไง ป้องกันปัญหาพื้นทรุด มาดูกัน!!!

Tweet
f Share

ตอนนี้เวลาที่เราต้องเลือกซื้อของหรือตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ สิ่งที่คนส่วนมากชอบทำก็คือ การค้นหาข้อมูลตามอินเตอร์เน็ต ซึ่งมันช่วยให้เราสามารถเลือกและตัดสินใจได้ดีมากขึ้น แต่ทว่าข่าวสารหรือข้อมูลในอินเตอร์เน็ตบางครั้งก็ทำให้พวกเรากลับกลุ้มใจกัน ซึ่งช่วงนี้ถ้าเพื่อนๆคนไหนที่กำลังมองหาบ้านใหม่ก็น่าจะได้ยิน-ได้อ่านเรื่อง "บ้านทรุด!" กันมาบ้างเพราะมีข่าวสารจากหมู่บ้านมาหลายโครงการจริงๆครับ แถมบางโครงการราคาบ้านแต่ละหลังก็เป็นสิบล้าน!!! ซื้อมาไม่กี่ปีก็ทรุดกันเป็นสิบเซนติเมตร ดังนั้นวันนี้ผมจึงพยายามนั่งหาวิธีเลือกซื้อบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาพื้นทรุดครับ

ปัญหาพื้นทรุด หลีกเลี่ยงได้ไหม?
จริงๆแล้วปัญหาเรื่องพื้นดินทรุดเป็นสิ่งที่ทุกๆคนต้องเจอ เพียงแต่อัตราการทรุดควรจะอยู่เกณฑ์ เช่น พื้นที่กรุงเทพฯทรุดเฉลี่ยปีละ 1 เซนติเมตร ซึงถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ปัญหาที่เราเห็นออกข่าวกันหนักๆ ก็เนื่องจากพื้นบ้านบางหลังทรุดตัวเร็วกว่านี้มากๆครับ บางโครงการแค่ 3 ปีทรุดไปเกินสิบเซนติเมตร แบบนี้มันไม่ใช่ล่ะครับ เลยทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องตามที่เป็นข่าว

ปัญหาเรื่องพื้นทรุดไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่บ้านของเรา แต่พื้นที่ส่วนกลาง
ถนนหน้าบ้านก็มีโอกาสเกิดปัญหาเช่นเดียวกัน
วิธีเลือกซื้อบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาพื้นทรุด
1. ตรวจสอบพื้นที่ก่อนก่อสร้าง - ก่อนสร้างบ้าน สร้างถนนเราก็มักจะได้ยินเรื่องการถมที่ พอเราถมที่เสร็จก็ต้องรอให้พื้นดินยุบตัวลงไปก่อน ซึ่งเรื่องนี้วิศวกรสามารถคำนวณได้ว่าต้องรอกี่วัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เจ้าของโครงการอยากได้เงิน...ใครจะไปรอครับ ก็เลยรีบก่อสร้างทั้งๆที่พื้นดินเพิ่มถมไป ทีนี้พื้นที่ที่มีเสี่ยงมากกว่าที่อื่นก็คือ โครงการที่เคยเป็นบ่อปลา ทุ่งนา บึง เพราะพื้นที่เหล่านี้จะมีความเสี่ยงมากกว่า ดินที่เพิ่งถมมีอัตราการทรุดที่สูงซึ่งต้องถมที่แล้วรอกันหลายปีกว่าจะทรุดตัวจนพื้นดินอยู่ตัว(จนนั้นก็ค่อยๆทรุด) สำหรับวิธีการตรวจสอบพื้นที่ไปดูด้านล่างได้เลยครับ

2. ดูระยะเวลาประกัน - สำหรับคนที่ซื้อบ้านใหม่ สิ่งที่เราต้องดูให้ดีๆเลยก็ระยะเวลาที่โครงการรับประกันครับ ดูเลยว่ารับประกันกี่ปี แต่ทีนี้ดูแค่ระยะเวลาอย่างเดียวก็ไม่ได้ครับ เพราะว่าบางโครงการก็ดึงเรื่องไม่ยอมมาซ่อมจนเลยระยะเวลาที่ประกัน -*- ก็มีเรื่องราวตามที่เป็นข่าวกันมากมายครับ ดังนั้นจะซื้อบ้านโครงการไหนก็ค้นข้อมูลกันให้เยอะๆน่ะครับ ว่าโครงการนั้นรับผิดชอบไหม

3. ลองดูบ้านมือสองไหม - สำหรับคนที่กังวลเรื่องพื้นทรุดจริงๆ เนื่องจากมีประสบการณ์ตรงหรือเคยเห็นบางโครงการที่พื้นมันทรุดกันทั้งหมู่บ้าน ถนนหน้าบ้านก็ทรุดจนถนนไม่เรียบ!!! แบบนี้ผมแนะนำให้ไปดูบ้านมือสองเลย เลือกโครงการที่ผ่านมาแล้ว 7 ปีขึ้นไปครับ(ยิ่งนานยิ่งดี) รับรองว่าพื้นที่รอบๆบ้านจะทรุดจนเห็นได้แล้วครับว่าอัตราการทรุดตัวอยู่ในเกณฑ์ไหม และคุณก็จะได้เห็นการดูแลพื้นที่ส่วนกลางของทางนิติบุคคลด้วยว่าดูแลได้ดีไหม


วิธีการตรวจสอบพื้นที่
สอบถามคนที่อยู่แถวๆนั้น - เราต้องลองถามเพื่อนๆ, คนรู้จักที่ขับรถผ่านหรือชาวบ้านที่อยู่อาศัยแถวนั้น พวกเขาน่าจะจำได้ครับว่า พื้นที่นั้นเคยเป็นทุ่งนาหรือบ่อปลามาก่อนหรือเปล่า ถ้าโครงการสร้างบนพื้นที่เหล่านั้นแนะนำว่า....เลือกที่อื่นครับ (จริงๆถามในเวปบอร์ดต่างๆก็ช่วยได้เช่นกัน)

รูปภาพจาก Google Maps
ใช้ Google Maps - วิธีนี้อาจจะช่วยได้ครับ ถ้า Google ยังไม่ได้อัพเดตรภาพถ่ายจากดาวเทียมในบริเวณนั้น ยกตัวอย่างรูปที่ผมนำมาจะเห็นว่าเป็นโครงการที่เริ่มก่อสร้างไปแล้วบางส่วน ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่ได้ช่วยครับ แต่วิธีการมันฟรีครับ! ดังนั้นเพื่อนๆก็ลองไปเปิดภาพถ่ายดาวเทียมมาดูกันก่อนน่ะ เผื่อว่าเจอภาพตอนที่ยังไม่ได้ก่อสร้างจะได้ตอบคำถามในใจกันได้ครับ

ดูโครงสร้างบ้าน - อันนี้เราต้องมีความรู้เรื่องโครงสร้างหรือขอให้คนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาช่วยดูก็ได้ครับ เพราะบางคนก็อาจวางแผนรับมือกับเรื่องพื้นทรุดเร็วๆไปเลย เช่น ลงเสาเข็มที่โรงรถเพิ่มเติมไปเลย 4 เสา 8 เสา(รวยน่ะเนี่ย!), หรือคนที่มีสวนข้างๆบ้านก็ถมดินเพิ่มเติมให้สูงขึ้นมาอีก 15 เซนติเมตร เพื่อที่ว่าเวลาที่พื้นทรุดตัว เราก็จะไม่เห็นโพรงข้างใต้บ้านครับ ซึ่งการทำเตรียมตัวรับมือกับพื้นทรุดแบบนี้แปลว่า...คุณต้องออกเงินครับ! ทำให้หลายๆคนไม่ชอบ ดังนั้นผมแนะนำวิธีนี้ก็ต่อเมื่อโครงการนี้ทำเลดีจริงๆ(ถือว่าซื้อที่ดิน ซื้อทำเลดีๆไปครับ) หรือคุณได้ส่วนลดจากทางโครงการเยอะมากๆ เยอะจนคุ้มค่าที่จะลงทุนทำให้โครงสร้างต่างๆดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าพื้นดินของโครงการมันทรุดตัวมากจริงๆ คุณก็ยังมีปัญหาเรื่องถนนของส่วนกลางทรุดตัวจนไม่เรียบอยู่ดีครับ :)

โดย buildsweethome.blogspot.com
สำหรับเรื่องราวและวิธีหลีกเลี่ยงพื้นบ้านทรุดเท่าที่ผมนึกออกก็มีประมาณนี้ครับ ถ้าเพื่อนๆมีอะไรเพิ่มเติมมาเล่าให้ฟังกันได้เลยครับ ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับการเลือกซื้อบ้านไปอ่านกันต่อได้ที่นี้เลย [เลือกซื้อบ้าน]
Tweet
f Share
👤  📅 วันอังคาร, กรกฎาคม 07, 25582015-07-07T04:42:38Z
Previous